สำนักงานเขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข
rhsoffice4 rh4 036230929
ประชาสัมพันธ์
ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ถูกนำไปใช้จริงในระบบบริการสุขภาพ ยาพอกเข่า ขนานที่ 1-6

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

            โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการปวดเข่า บวมแดง เข่าฝืดยึด มีเสียงดังในเข่า ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ดังปกติ ซึ่งมีความรุนแรงมากน้อยต่างกันไป สาเหตุมีได้หลายประการ เช่น ผลสะสมจากความเสื่อมและการใช้ข้อเข่าที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วัยหนุ่มสาว การที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในทุกขณะที่ก้าวเดิน หรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่ามาก่อน บางรายเคยมีการอักเสบติดเชื้อ หรือเป็นโรคไขข้อ บางชนิด เช่น โรครูมาตอยด์ เป็นต้น
          ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยพบว่ามีความใกล้เคียงกับ โรคลมจับโปงแห้งเข่า ซึ่งนิยามของโรคลมจับโปงแห้งเข่า คือ โรคที่มีอาการปวดบวมแดง ซึ่งอาจจะพบเพียงเล็กน้อย มีสภาวะข้อเข่าผิดรูปเข่าโก่ง งอเข่าไม่ได้องศา มีเสียงกรอบแกรบในเข่าขณะเดิน อาจปวดมากเวลาเปลี่ยนอิริยาบถหรือขึ้นลงบันได

อาการของโรค
            1. เริ่มจากปวดเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อได้พักการใช้เข่า อาการปวดก็จะทุเลา และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อนั้นมาก ในรายที่เป็นมากอาการปวดจะเป็นตลอดเวลา
            2. ข้อฝืด ใช้งานไม่ถนัด บางรายมีข้อติด
            3. ข้อผิดรูป เข่าบวมโต บางรายมีขาโก่งออก
            4. มีปัญหาในการใช้งานข้อเข่า เช่น ลุกนั่งม้าเตี้ย , ขึ้นลงบันได รวมทั้งการเดิน

แนวทางการดูแลรักษา 

            มุ่งลดอาการปวดด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งให้คำแนะนำผู้ป่วยให้ทราบถึงการใช้เข่าที่ถูกต้อง
            1. ลดอาการปวดและเกร็งของกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยใช้ความร้อนประคบ
            2. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า
            3. ใช้สนับเข่าในรายที่เข่าเสียความมั่นคง สนับเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับ ลดอาการปวด แต่ถ้าใช้เป็นเวลานานจะพบว่ากล้ามเนื้อรอบเข่าลีบจากการไม่ได้ใช้งาน จึงควรมีการบริหารข้อเข่าร่วมด้วยเสมอ
            4. อริยาบทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม จะเป็นตัวเร่งส่งเสริมให้เกิดความเสื่อมในข้อเข่าเร็วขึ้น ได้แก่ การนั่ง พับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ ควรหลีกเลี่ยงหรือปรับให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้นั้น
            5. ไม้เท้าจะช่วยแบ่งเบาแรงที่กระทำต่อข้อเข่าได้บ้าง และช่วยเพิ่มความมั่นคงในการยืนเดิน บางรายอาจใช้ร่มแทน ให้ใช้จุกยางอุดปลายร่มเพื่อกันลื่น
            6. ลดน้ำหนัก เนื่องจากเวลายืนเดิน เข่าต้องรับน้ำหนัก 3-4 เท่าของน้ำหนักตัว ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เข่าจะยิ่งต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ดังนั้นการลดน้ำหนักจะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่าได้มาก

การบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า
            1. นั่งชิดเก้าอี้ เหยียดเข่าตรง เกร็งค้างนับ 1-10 หรือเท่าที่ทำได้ แล้วเอาลงนับเป็น 1 ครั้ง ทำสลับข้าง ( รูป 1)
            2. ถ้าทำได้เก่งขึ้น ให้นั่งไขว้ขา โดยขาบนกดลง และขาล่างเหยียดขึ้น เกร็งนับ 1-10 ทำสลับข้างเช่นกัน ท่านี้ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าขา และท้องขาแข็งแรงขึ้น ( รูป 2)
            3. นอนหงาย เอาหมอนเล็ก ๆ วางใต้เข่า เกร็งสะบ้า เหยียดเข่าตึง นับ 1-10 เช่นกัน ( รูป 3)

            การบริหารทุกท่า ให้เริ่มทำจากน้อยไปมาก โดยทำประมาณ 10-20 ครั้ง / ชุด วันละ 2-3 ชุดเป็นอย่างน้อย ค่อย ๆ เพิ่มตามความสามารถของกล้ามเนื้อรอบเข่า จะช่วยเพิ่มทั้งความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ

การใช้ข้ออย่างถูกวิธี
            อริยาบทบางอย่างนั้นไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคข้อเข่า ควรมีการปรับให้เหมาะสมในแต่ละคน ตัวอย่างเช่น
            • การซักผ้า ซักทีละไม่มากชิ้น นั่งซักบนม้าเตี้ย ๆ และเหยียดเข่าสองข้าง ถ้าสามารถใช้เครื่องซักผ้าได้ก็จะเป็นการดี
            • การรีดผ้า เลี่ยงการนั่งพื้นรีดผ้า ควรใช้การนั่งเก้าอี้หรือยืนรีด และควรหาม้าเตี้ย ๆ มารองพักขาข้างหนึ่งไว้เพื่อช่วยพักกล้ามเนื้อขาและหลัง
            • เลี่ยงการก้มถูพื้นบ้าน หรือการทำความสะอาดห้องน้ำ ให้ใช้ไม้ม๊อบถูพื้นแทน
            • การนั่งพับเพียบไปวัดฟังเทศน์ อาจเลี่ยงโดยนั่งขอบบันได หรือนั่งเก้าอี้แทน
            • การนั่งขัดสมาธิทำสมาธิ อาจเลี่ยงโดยนั่งสมาธิบนเก้าอี้ แทนการนั่งขัดสมาธิที่พื้น
            • เลี่ยงการนั่งพื้นทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากการนั่งพื้นต้องงอเข่ามาก โดยเฉพาะเวลาลุกขึ้นลง
            • ส้วมมีความสำคัญมากเช่นกัน ในรายที่ใช้ส้วมนั่งยองๆ จะเพิ่มอาการปวดเข่า อาจปรับโดยหาม้าสามขาคล่อมบนส้วมซึม และนั่งบนม้าสามขาแทน ปัจจุบันมีส้วมนั่งแบบชักโครกแต่ใช้การราดน้ำ สามารถนำไปเปลี่ยนแทนส้วมซึมได้ ราคาถูกและสะดวกกว่า

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
            การออกกำลังกายในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม แต่บางท่านไม่สะดวก การเดินก็เป็นการออกกำลังที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้อาจใช้การขี่จักรยาน โดยปรับอานนั่งให้สูงกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อลดการงอเข่าที่มากเกินไป การออกกำลังที่ควรเลี่ยง คือ การวิ่ง เนื่องจากมีแรงกระทำต่อข้อเข่าสูงมากๆ หรือการเต้นแอโรบิคบางท่าที่มีการกระโดด หรือบิดงอหัวเข่ามาก ดังนั้นควรพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายผู้นั้น จึงจะได้ประโยชน์และไม่เกิดผลเสียจากการออกกำลังกาย

            เมื่อท่านดูแลข้อเข่าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยชะลอความเสื่อม และยืดอายุการใช้งานของข้อเข่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในการใช้ข้อเข่าให้แก่ท่าน